Saturday, July 18, 2009

ตอบ อาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง อุดมการณ์ใหม่

ตอบ อาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เรื่อง อุดมการณ์ใหม่

จากบทความของ อ. สมศักดิ์ ว่าด้วย ชัยชนะของการสร้างประชาธิปไตยระยะยาวอยู่ที่การสร้างอุดมการณ์ใหม่ นั้น อ. สมศักดิ์ ได้กล่าวไว้คร่าวๆว่า “ชัยชนะของการสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว ไม่ใช่อยู่ที่ยึดอำนาจรัฐบาลได้ แต่อยู่ที่สร้างอุดมการณ์ใหม่ (New Hegemonic Culture/Ideology) เข้าแทนที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยม (Monarchist Ideology) ที่ครอบงำสังคมไทย” และยังกล่าวถึง สองประเด็น หลักๆไปถึงแกนนำ และ แนวร่วมคนเสื้อแดง

นีโอ ขออนุญาต เสริมทั้งสามประเด็น ให้พี่น้องแนวร่วมคนเสื้อแดง ได้ลองนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิด และ เป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวต่อไป

ประเด็นแรกเป็นเรื่อง ของการสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว ไม่ใช่อยู่ที่ยึดอำนาจรัฐบาลได้ แต่อยู่ที่สร้างอุดมการณ์ใหม่ (New Hegemonic Culture/Ideology) เข้าแทนที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยม (Monarchist Ideology)

นีโอ จำเป็นต้องชี้แจงว่า เห็นด้วยกับ อ. สมศักดิ์ ในส่วนที่ระบุว่า การสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว ไม่ใช่อยู่ที่ยึดอำนาจรัฐบาลได้ แต่อยู่ที่สร้างอุดมการณ์ใหม่ (New Hegemonic Culture/Ideology) แต่ ยังไม่เห็นด้วยเรื่องการนำอุดมการณ์ใหม่นั้น เข้าแทนที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยม สาเหตุเนื่องมาจาก

คนเสื้อแดงจำนวนมาก มีความนิยม เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเหนียวแน่น และ มั่นคง ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากประเด็นความเคลื่อนไหวของแนวร่วมคนเสื้อแดงที่ผ่านมา เช่น หลังจากที่มีการทำรัฐประหารยึดอำนาจ รัฐบาลทักษิณ แล้วเสร็จ แนวร่วมคนเสื้อแดง ได้เคยชูประเด็น ว่าการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการยึดพระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่ ซึ่ง ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่ทำให้ แนวร่วมคนเสื้อแดงหลายภาคส่วนเกาะกลุ่มกันอย่างรวดเร็วในปริมาณมาก เป็นการแสดงให้เห็นเบื้องต้นว่า คนเสื้อแดงที่รักและภักดี นั้นมีอยู่มาก

ช่วงเวลาของการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย มีหลายครั้งที่อำมาตย์ ผ่าน พันธมิตร พยายามกล่าวหา ยัดเยียดว่า คนเสื้อแดง ประสงค์ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ไม่เคยดึงสถาบันฯ ลงมาข้องเกี่ยวกับการเมือง ทำให้ พันธมิตรประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ด้วยการล้างสมองประชาชนว่า คนเสื้อแดง ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง

การรณรงค์ ใส่เสื้อเหลืองนั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ คุณ ทักษิณ เป็นรัฐบาล ก่อนที่ พันธมิตรจะพยายามสร้างกระแส ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นศัตรูกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พันธมิตร เอาสัญลักษณ์เสื้อเหลืองมาเป็นเครื่องมือ ในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการดึงสถาบัน ลงมาข้องเกี่ยวกับการเมือง และยังมีการถวาย ฎีกาฯ ถึงสองครั้ง และ พระมหากษัตริย์ ก็ ปฏิเสธคำร้องจากพันธมิตรทุกครั้ง ดังนั้นคนเสื้อแดง จึงเกิดความรังเกียจ พันธมิตรอย่างแพร่หลาย

จนปัจจุบัน การถวาย ฎีกาฯ ของคนเสื้อแดง ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ ถึงจำนวน คนเสื้อแดง ที่มีความเชื่อมั่นใน “พระมหากรุณาธิคุณ” เมื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ คนที่มาร่วมลงชื่อ ในการถวายฎีกาฯนั้น อย่างน้อยก็มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ สามารถที่จะช่วยเหลือได้

นีโอ คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่าล้านคน ที่จะลงชื่อในการถวายฎีกาฯ ครั้งนี้ ดังนั้น นีโอ จึงยังไม่เห็นด้วยกับ อ. สมศักดิ์ ในเรื่องการใช้ อุดมการณ์ใหม่นั้น เข้าแทนที่อุดมการณ์กษัตริย์นิยม นีโอ เห็นสมควร จากพื้นฐานของแนวร่วมคนเสื้อแดงที่มีปริมาณมาก กับ ความเคลื่อนไหวในอดีต เป็น หลักฐานสนับสนุนว่า

“การสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว ไม่ใช่อยู่ที่ยึดอำนาจรัฐบาลได้ แต่อยู่ที่สร้างอุดมการณ์ใหม่ (New Hegemonic Culture/Ideology) ให้ควบคู่ไปกับ การพัฒนา อุดมการณ์กษัตริย์นิยม (Monarchist Ideology) ให้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นที่สอง เป็นเรื่อง ของการพูดจา ภาษาสรรเสริญพระบารมี นั้น อ. สมศักดิ์ น่าจะเข้าในดีว่า แกนนำคนเสื้อแดง เช่น สามเกลอ หรือแนวร่วมคนเสื้อแดงอย่าง ทักษิณ นั้นมีพื้นฐานเป็นนักการเมือง ซึ่งนักการเมืองนั้น มีความเป็นธรรมชาติ ที่จะพูดจา ให้คนนิยม เมื่อนักการเมืองเห็นว่า มีคนนิยมสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่มาก ดังนั้นการพูดจาภาษาสรรเสริญพระบารมี จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

นีโอ เพียงอยากจะชี้แจงว่า การพูดจาภาษาสรรเสริญพระบารมี นั้นเป็นสิทธิ ที่จะกระทำได้ และเมื่อเปรียบเทียบ ระหว่าง สามเกลอ และ ทักษิณ แล้ว ก็ยังดีกว่า ศัตรูของระบอบประชาธิปไตย เช่น พันธมิตร หรือ รัฐบาลลิ่วล้อ อำมาตย์ ที่ไม่พูดจาภาษาสรรเสริญพระบารมี แถมยัง คอยดึงสถาบันเบื้องสูงลงมา ขัดขวางความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงผ่านวาทกรรม ต่างๆ เช่น คนเสื้อแดงจาบจ้วง คนเสื้อแดงกดดันพระมหากษัตริย์ และ คนเสื้อแดงมีแผนการล้มล้างสถาบัน ซึ่ง นีโอ ขออาศัย โอกาสนี้ ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง จากหลักฐาน ความเคลื่อนไหวของ คนเสื้อแดง และจากการพูดจาภาษาสรรเสริญพระบารมี ของแกนนำและแนวร่วม ทำให้พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า คนเสื้อแดง นั้น รักและภักดี ต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริง

ประเด็นที่สามเป็นเรื่อง ของการ ยึดอำนาจรัฐ ซึ่ง นีโอ เห็นด้วยว่า ไม่ใช่ ชัยชนะ ที่แท้จริงในการสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว แต่เราต้องไม่ลืมว่า ก้าวแรก ของฝ่ายประชาธิปไตย ในการเข้าไปปรับเปลี่ยน แก้ไข หรือ ส่งเสริม ประชาธิปไตยนั้น ทำได้ยาก ในสถานการณ์เช่นนี้ คือ ในสถานการณ์ที่ อำนาจรัฐ อยู่ในมือของรัฐบาล ลิ่วล้ออำมาตย์ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ประชาธิปไตยทั้งระยะสั้น และ ระยะยาวต้องสอดคล้องกัน กล่าวคือ หากฝ่ายประชาธิปไตย ได้อำนาจรัฐมาแล้ว ก็ ย่อมที่จะช่วยส่งเสริมการสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว โดยที่จะสามารถช่วย ลดแรงต่อต้านจากฝ่ายอำมาตย์ลงได้

บทเสริม ว่าด้วยมุมมอง เข้าแทนที่ หรือ พัฒนาควบคู่กัน

วันนี้ต้องยอมรับว่า ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของ อุดมการณ์ใหม่ ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง นีโอจึงอยากจะอาศัยโอกาสนี้ ขยายความ อุดมการณ์ใหม่ ที่ นีโอ มองว่าน่าจะเป็นทางออก ที่ดี และ อาจจะขัดแย้งกับ อ. สมศักดิ์ ในส่วนของ “การเข้าแทนที่ของอุดมการณ์” ซึ่งจะเป็นการขยายความในส่วนของ “การพัฒนาควบคู่กันไป”

อีกมุมมองหนึ่ง ที่ต้องพูดกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรมคือ เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น freedom of speech เราจะเห็นว่า อ. สมศักดิ์ หรือ นีโอ สามารถ วิจารณ์ การเมืองได้อย่างอิสระ ในขณะที่ พระมหากษัตริย์นั้น ไม่มี freedom of speech ไม่สามารถที่จะพูดเรื่องการเมืองได้ ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ด้วย จารีต ควรไม่ควร ต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า หลายครั้งที่ พระมหากษัตริย์ ได้ทรงตรัสว่า ตนไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองได้ หรือ ถ้าพูด หรือ ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอาจจะไม่ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

การคืน freedom of speech ให้แก่ พระมหากษัตริย์อาจจะต้องแลกด้วย การสละพระราชอำนาจบางส่วน ที่ไม่จำเป็นในการ ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

อีกมุมมองหนึ่ง พระมหากษัตริย์ ทรงตรัสอยู่หลายครั้งว่า คนที่เป็นพระมหากษัตริย์ ต้องถูกวิจารณ์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย แต่ในเมืองไทยยังมี กฎหมายหมิ่นฯ หรือ lese majesty ที่หลายคนอ้างว่า เป็น สิ่งที่ขัดขวาง การวิจารณ์สถาบันฯ ในจุดนี้นั่นเองที่เราต้องมาดูกันในรายละเอียดว่า จริงๆแล้ว lese majesty นั้น พระองค์ท่านต้องการหรือไม่ หรือ เป็นเพราะ ถูกพวกเราที่นิยมกษัตริย์ ยัดเยียดให้ใช้

เพื่อความสบายพระไท กฎหมายหมิ่น หรือ lese majesty สมควรได้รับการปรับปรุง

อีกมุมมองหนึ่ง คือ ความเสื่อมเสีย ที่มีผลกระทบต่อสถาบัน อันเนื่องมาจาก พฤติกรรมของ องคมนตรี ที่หลายครั้งหลายครา องคมนตรี ไปยอมรับตำแหน่ง ผู้บริหารประเทศ โดยการเลือก ของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจ พระมหากษัตริย์ผ่านการล้มล้าง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

องคมนตรี สมควรมีข้อจำกัดทางกฎหมายใดๆหรือไม่ เป็นการเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้สร้างความเสื่อมเสียขึ้นแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ทางด้านวิชาการ และ ความเหมาะสม และตอบโต้รัฐบาลตามหลักฐานทางวิชาการใน นโยบาย ที่ จะมีผลกระทบในทางลบ แก่ สถาบันพระมหากษัตริย์

การเปิดประเด็นในบทเสริมนี้ เป็นเพียงอีกหนึ่งมุมมอง ที่ นีโอ ไม่กล้าพูดมาก่อน ถึงแม้ว่าจะเขียนออกมาแล้วก็ยังรู้สึกกลัว ในจิตใจลึกๆว่า การ ตอบโต้ อ. สมศักดิ์ ในเรื่องนี้ อาจจะเป็นภัย

ทั้งนี้ การเปิดประเด็น จะชี้นำว่า การสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว ไม่ใช่อยู่ที่ยึดอำนาจรัฐบาลได้ แต่อยู่ที่สร้างอุดมการณ์ใหม่ (New Hegemonic Culture/Ideology) ให้ควบคู่ไปกับ การพัฒนา อุดมการณ์กษัตริย์นิยม (Monarchist Ideology) ให้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย


อ้างอิง

สมศักดิ์ เจียมฯ:ชัยชนะของการสร้างประชาธิปไตยระยะยาวอยู่ที่การสร้างอุดมการใหม่
http://thaienews.blogspot.com/2009/07/blog-post_18.html

No comments:

Post a Comment