Wednesday, June 24, 2009

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ จากอีกหนึ่งมุมมอง

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ จากอีกหนึ่งมุมมอง

สืบเนื่องมาจาก อำนาจในการต่อรอง ของ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่ในมือ ซึ่งสามารถ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ประปา รถไฟ รถเมล์ ต่างก็เป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน และ มีลูกค้า หรือ ผู้บริโภคเป็นประชาชนเช่นกัน การที่ประชาชนจะทวงคืน องค์กรเหล่านั้น เป็นเรื่องยาก จนแทบจะเป็นไปไม่ได้ในเวลาปัจจุบัน แต่ผมจำเป็นต้องพูดถึง เมื่อ สหภาพแรงงาน ต่างออกมาอาละวาด ฟากงวงฟาดงา ขอขึ้นเงินเดือน เดือนละ 2,000 บาท ต่อคน และ ออกมาเรียกร้องต่อต้าน มติ ครม. ด้วยการปิดการให้บริการเดินรถไฟ จนรัฐบาลต้องยอม ถึงแม้ผู้เขียน จะแสดงตนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ จำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา

สำหรับผมแล้ว ผมไม่ขัดเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นบริษัทมหาชน ผมว่าถึงเวลาแล้วด้วยซ้ำ ที่เราจะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจบางประเภท โดยเฉพาะ รถไฟไทย และ ขสมก. อันเนื่องมาจากการขาดทุนสะสม และ ความสามารถในการแข่งขันขององค์กร รัฐวิสาหกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลชุดไหนก็ตามที่พยายาม แปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ต้องโดนต่อต้านอยู่เรื่อยไป


สิ่งที่น่าหนักใจที่สุด คือ ข้อกล่าวหาว่า ขายทรัพยสินของชาติ ซึ่งเป็นทัศนคติ ที่ล้าหลัง คร่ำครึ เพราะการแปรรูปนั้น มีหลากหลายวิธีการ หลากหลายแนวทาง การที่จะมาอ้างว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นการขายสมบัติชาติ มันจึงเป็นเรื่องเกินจริง การที่ รัฐวิสาหกิจ จะรวบรวมทุนนั้น จำเป็นจะต้องขายหุ้น ซึ่ง คนอาจจะกลัวว่า เราจะต้องไปขายหุ้นเหล่านี้ให้บริษัทต่างชาติ หรือชาวต่างชาติ ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาครอบงำการบริหารงานธุรกิจ หรือ องค์กร รัฐวิสาหกิจของไทย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องจริงเสียทั้งหมด ความจริงก็คือ รัฐบาล ยังสามารถเป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นอยู่ได้ ไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ส่วนอีก 49% นั้นเรายังสามารถเลือกที่จะขายให้แก่ ประชาชนคนไทยได้ โดยไม่ต้องให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อ อย่างนี้จะเรียกขายทรัพสมบัติของชาติได้อย่างไร หรือการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจให้ กองทุนของไทยต่างๆ เช่น กองทุนบำเน็จบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เหล่านี้ หุ้นส่วนใหญ่ ก็ยังคงเป็นของคนไทย หรือเพื่อความมั่นใจ เราก็ตั้งกฏ กันไปเลยก้ได้ ว่า หุ้นเหล่านี้ ซื้อแล้ว ห้ามขาย ให้ขายคืนแก่รัฐบาลได้อย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้ ข้อกล่าวหาว่าขายทรัพสมบัติของชาติ ก็ เป็นเพียงเรื่องตื่นตระหนกเกินไปเท่านั้นเอง

ผลดีที่เราจะได้จากการแปรรูปคือ ระบบการทำงานแบบ ราชการ สมัยเก่า จะถูกแทนที่ โดย ระบบการทำงานแบบองค์กร ธุรกิจสมัยใหม่ และ พนักงานที่ทำงานในองค์กร เหล่านี้ ก็ จะต้องปรับตัว และ สร้างผลงาน เพื่อตนเองและเพื่อประชาชนคนไทยอย่างชัดเจน ข้อแตกต่างระหว่าง บริษัทเอกชน และ องค์กรข้าราชการ คือ เมื่อพนักงานในองค์กร เอกชน ไม่มีผลงาน หรือผลงานไม่ดีพอ นายจ้างก็สามารถที่จะจ้างพนักงานเหล่านั้นออกได้ แต่ในระบบรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันนั้น การไล่พนักงานออก มีเหตุผลเดียวคือ เขาทำ ทุจริต ผิดกฎหมาย เท่านั้นจึงจะไล่ออกได้ ถ้าเขาเกียจคร้าน หรือ สร้างความวุ่นวาย นายจ้างคือประชาชนผู้เสียภาษี ไม่สามารถทำอะไรได้เลย จนเป็นที่มาของกลอน ล้อเลียน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

งานมาก กู ก็เบื่อ
งานเหลือ กู ก็เกลียด
งานละเอียด กู ก็งง
บอกตรงๆ กู ขี้เกียจจจจจ


หากจะอ้างว่า ใน อนาคต ถ้าแปรรูปไปแล้ว รายได้ของรัฐวิสาหกิจ จะไม่เข้ามาที่ส่วนกลาง และ รายได้จะไม่ถึงมือประชาชน ก็ เป็นเรื่องที่ ขัดกับความเป็นจริง เพราะทุกวันนี้ รายได้ ก็ยังไม่พอ จนรัฐบาลต้องให้งบเพิ่มทุกปี หากในอนาคต มีกำไรขึ้นมา ขณะที่ ได้มีการแปรรูปไปแล้ว แน่นอน บริษัท ต้องเสียภาษีส่วนหนึ่ง ซึ่งแน่นอน เงินภาษีเหล่านี้เข้ารัฐโดยตรง อีกทั้งยังมีเงินปันผล ที่จ่ายให้อีก ถ้ามีกำไร รัฐบาลที่ถือหุ้น 51% ก็จะได้เงินปันผล ประชาชนคนไทยทั่วไป ก็จะได้เงินปันผล ผมไม่เห็นว่าจะมีอะไรเสียหายตรงไหน แถม ประชาชน ยังมีสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น กำหนดทิศทางการทำงานของรัฐวิสาหกิจได้อีก

เมื่ออ้างว่า ถ้าในอนาคต มีคนขายหุ้นเหล่านั้นให้ชาวต่างชาติ คนไทยที่ขายได้เงิน ชาวต่างชาติ ก็จะเข้ามาครอบงำ ผมก็ไม่เห็นว่าจะป้องกันยากอย่างไร เมื่อ ชาวต่างชาติ ไม่มีสิทธิ ในการโหวต หรือ ลงคะแนน ในการกำหนดทิศทางการบริหาร ในองค์กร เหล่านี้อยู่แล้ว

เมื่ออ้างว่า กลัว รัฐวิสาหกิจ จะตกไปเป็น ของกลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่ง หรือนักการเมืองที่มีอิทธิพล ผมก็เห็นว่าฟังไม่ขึ้น เพราะ นักการเมืองมีข้อจำกัดทางด้านกฏหมาย ไม่ให้ถือหุ้นในบริษัท ที่มีสัมปทานอยู่กับรัฐ ส่วนเรื่องกลุ่มทุนในประเทศจะมาครอบงำ เราก็แก้ปัญหาได้ด้วยการ กระจายหุ้นให้เท่าเทียมกัน และอาจจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในเรื่องปริมาณการถือครอง หรือการขายต่อ

เมื่ออ้างว่า การแปรรูปจะทำให้ สถานภาพ ของ พนักงาน ไม่มั่นคง ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เพราะ ในบริษัท หรือ โรงงาน เอกชนหลายแห่ง สหภาพแรงงานยังคงมีอำนาจต่อรองสูง เหมือนเดิม แต่การต่อรองจะเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น ขอเงินเดือนเพิ่ม เดือนละ 2,000 บาท ต่อคน แลกกับ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขึ้น 10% เป็นต้น ซึ่งมันเป็นการแลกเปลี่ยนที่ฟังขึ้น มากกว่า การขอเงินเพิ่ม แลก กับการไม่ต้องหยุดให้บริการ

เอาเข้าจริงๆ ถ้าแปรรูปไปแล้ว การตรวจสอบจะทำได้ง่ายขึ้น การคอรัปชั่นจะทำได้ยาก ส่วนบริการจะได้รับการปรับปรุงอย่างรวดเร็ว ลดปัญหาเรื่องเส้นสายลงได้บ้าง รัฐบาลก็จะไม่ต้องเก็บภาษี เพื่อนำมาชำระหนี้รัฐวิสาหกิจ รวมไปถึง รายได้จากภาษี ขององค์กร เหล่านี้ เวลาที่มีกำไร

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ขาดทุน คือจุดเริ่มต้นที่เราควรเรียกร้อง

No comments:

Post a Comment